Friday, November 26, 2010

ความต้องการของมนุษย์ ตามหลักพุทธศาสนา



ความต้องการตามหลักพุทธศาสนา

ในทางพุทธศาสนา กล่าวถึง ความต้องการของมนุษย์ หรือความอยากซึ่งเรียกว่า กิเลส มีอยู่ 3 อย่าง คือ ( พระธรรมปิฎก ป.อ. ปยุตโต , 2538: 67 - 70)

1. กามตัณหา คือ ความอยากในกามคุณทั้ง 5 คือ ความอยากหรือปรารถนาในสิ่งน่ารักใคร่พอใจ ซึ่งอาจเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มิใช่หมายถึงความต้องการทางเพศเพียงอย่างเดียวอย่างเช่นที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ กัน
2. ภวตัณหา คือ ความอยากมี อยากเป็น อยากได้
3. วิภวตัณหา คือ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้

กล่าวไว้นั้น เมื่อเทียบกับหลักธรรมของพุทธศาสนา
เปรียบได้กับอิฐารมณ์ 4 คือ (เสถียร เหลืองอร่าม, 2519 : 21)
1. ลาภ ซึ่งได้แก่ ทรัพย์ ศฤงคาร(สิ่งที่ทำให้เกิดความรัก, ความใคร่) เงินทอง
2. ยศ ได้แก่ ตำแหน่ง เหรียญตรา ปริญญา วิทยฐานะ
3. สรรเสริญ ได้แก่ ความเคารพ นับถือจากผู้อื่น
4. ความสุข ทั้งในร่างกายและจิตใจ

ความต้องการที่เหมือนกันของมนุษย์ (กฤษณา ศักด์ศรี , 2534 : 219 - 220)
มนุษย์มีความต้องการมากมายหลายอย่าง แต่ในแง่ของความสัมพันธ์ มนุษย์มีความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกันทุกคนก็คือ

1. ความรู้สึก "เป็นคนสำคัญ" ฉะนั้นจงทำให้ผู้อื่นรู้สึกว่าเขาเป็นคนสำคัญ ยกให้เขาเป็นคนสำคัญ เช่น การใส่ใจกับผู้อื่น จำชื่อเพื่อนได้ มีของมาฝาก ขอรับคำปรึกษาหรือความช่วยเหลือ

2. มนุษย์มีความต้องการอีกอย่างหนึ่ง คือ "ความยกย่อง หรือ ชื่นชม " ดังนั้นควรฝึกหัดยกย่องผู้อื่นเป็นประจำทุกครั้งที่เห็นใครกระทำสิ่งดีๆ หรือ มีความคิดดีๆ แต่ควรระวัง ทำด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้งแกล้งทำ

3. อยากให้คนอื่น "รัก" และ "ชอบ" ตน ยิ่งคนรักยิ่งชอบมากเท่าไร ยิ่งปลาบปลื้มใจมากขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงควร ทำให้เขาเกิดความรู้สึกนี้ให้มากขึ้น

4. มนุษย์ทุกคนอยากสบายแต่ "ขี้เกียจ" และต้องการแนวร่วมคือ คน "ขี้เกียจ" เหมือนเขา จงบอกว่าท่านขี้เกียจมากกว่าเขาเสียอีก เขาจะอุ่นใจขึ้นและคบท่านได้อีกนาน แต่อย่าไปบอกว่าท่านขยันกว่าเขาก็แล้วกัน ทำให้เขามีความหวัง และรู้สึกว่ายังมีคนสู้เขาไม่ได้อีกมากมาย เขาจะอยู่ในโลกนี้อย่างเป็นสุข และรักท่านขึ้นอีกหลายเท่า

มนุษย์อยากได้สิ่งทั้งสี่นี้ มนุษย์ต่อสู้ ดิ้นรน ลงทุน ทำงานหนัก เล่นการพนัน เป็นโจร ปล้นฆ่า ก็เพื่อชีวิตจะได้รับสิ่งทั้งสี่นี้เท่านั้น แม้ว่ามนุษย์จะมีความต้องการอื่นอีกมากมาย แต่ความปรารถนาทั้งสี่ประการดังกล่าวเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากในการ ติดต่อสัมพันธ์กัน

นอกจากนั้นแล้วมนุษย์ยังต้องการสิ่งอื่นๆ อีกมากมายได้แก่ ความสุข มนุษย์ทุกคนล้วนแล้วแต่ต้องการความสุข ไม่อยากพบกับความทุกข์ ถ้าไม่อยากพบกับความทุกข์ จะทำอย่างไรดีละ ? พระพุทธเจ้าทรงกล่าวว่า "เว้นเหตุแห่งทุกข์ย่อมมีสุขในที่ทั้งปวง" คำถามต่อมา แล้วอะไรจะเป็นเหตุแห่งทุกข์ ? จะรู้ได้อย่างไร ? คำตอบคือต้องมีปัญญา" คิด ไตร่ตรองให้รอบคอบในทุกๆ เรื่อง มีสติที่ระลึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่าจะทำสิ่งใด และที่เราจะทำนั้นก่อให้เกิดผลใดบ้าง เกิดความเดือดร้อนต่อตนเองและผู้อื่น เรียกว่า พิจารณาให้ถ่องแท้แน่ใจเสียก่อนจึงจะลงมือกระทำ หรือปฏิบัติ ซึ่งต้องอยู่บนพื้นฐานของ "ความถูกต้อง ความดีงาม ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่อื่น" นั้นแหละจึงจะเป็นความสุขที่เป็นความสุขจริงๆ ไม่ใช่เป็นความสุขที่นำความทุกข์มาให้เราภายหลัง

เมื่อทราบแล้วว่า มนุษย์ส่วนใหญ่มีความต้องการสิ่งใดบ้าง ย่อมช่วยให้เราพอใจจะเห็นแนวทางในการตอบสนอง ความต้องการ ดังกล่าวของมนุษย์ที่เราติดต่อ โดยมุ่งหวังให้เกิดความรู้สึกนึกรักใคร่ พึงพอใจต่อกัน อันจะนำไปสู่มนุษยสัมพันธ์ที่ดีและยาวนาน







No comments:

Post a Comment